บนพื้นที่ขนาด 6,355,573 ไร่ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือ 10,211,492 ตารางกิโลเมตรซึ่งนับว่าใหญ่เป็นที่สองของภาคใต้ แต่มีชายฝั่งทะเลยาวที่สุดของประเทศไทย คือยาวถึง 225 กิโลเมตรโดยมีจะงอยแหลมยาวเหยียดอยู่ที่แหลมตะลุมพุกเกิดเป็นอ่าวนครที่อุดมสมบูรณ์ โดยห่างจากก้นอ่าวขึ้นไปฝั่งประมาณ 50 กิโลเมตร ตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทยยังมีเทือกเขานครศรีธรรมราชเป็นแนวแบ่งพื้นที่จังหวัดออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นเชิงเขาแล้วลาดลงสู่ทะเลและฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นหุบเขาต้นกำเนิดของแม่น้ำตาปีที่ยาวที่สุดของภาคใต้นั่นเอง ธรรมชาติของนครศรีธรรมราชจึงชื่นฉ่ำสมบูรณ์ทั้งภูเขา ป่าไม้ และชายทะเล
          อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่ของจังหวัดด้วยเนื้อที่ถึง 356,250 ไร่ กินบริเวณกว้างขวางตั้งแต่อำเภอท่าศาลา ทางทิศเหนือลงมาอำเภอพรหมคีรีและอำเภอเมืองแล้ววกไปอำเภอลานสกา อำเภอฉวางและอำเภอพิปูน รวม 6 อำเภอ โดยมียอดเขาหลวง ซี่งนับเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในภาคใต้คือสูง 1,835 เมตร เด่นเป็นสง่าจากทุกทิศเสียดฟ้าอยู่คู่เมืองนครร่วมกับยอดอื่นๆ คือเขาขี้แรด
เขากล้วยไม้ เขาโปรห์ เขากลม เขาปริง เขาหอยสังข์เขายอดเพลและเขามหาชัยจากอุทยานแห่งชาติเขาหลวงนี้เองที่ลำธารสายต่างๆ มีกำเนิด ชาวนครเรียกว่าขุนน้ำ เช่นขุนน้ำท่างิ้ว ขุนน้ำท่าดี โดยตลอดสายที่สายน้ำไหลผ่าน หากเป็นหุขเขาก็จะชุ่มฉ่ำตลอดปี หากสูงชันก็จะเกิดเป็นน้ำตกเล็กใหญ่ สลับกันไป น้ำตกใหญ่ที่สามารถเข้าไปเที่ยวชมโดยสะดวกแล้วได้แก่น้ำตกพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี, น้ำตกกะโรม อำเภอลานสะกา ซึ่งทั้งสองน้ำตกนี้มีหลายชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จมาหลายพระองค์ ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา น้ำตกอ้ายเขียว อำเภอพรหมคีรีเป็นอีกน้ำตกที่ถนนเข้าถึงและมีหน่วยงานของอุทยานคอยจัดการและอำนวยความสะดวกอยู่เช่นเดียวกับทั้งสองน้ำตกข้างต้น ส่วนน้ำตกฝนแสนห่าบนกรุงชิงนั้น ต้องเดินเท้าอีกหลายชั่วโมงจากบ้านพักของอุทยานซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ร่มรื่นและสูงบนบรรยากาศที่ราบสูงของป่าดิบเขตศูนย์สูตรที่ยากจะสัมผัสได้ เพียงนั่งรถยนต์ขึ้นไปเท่านั้น อย่างไรก็ตามเส้นทางเดินเท้าสู่น้ำตกฝนแสนห่านั้นท้าทายบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะวัยใดก็ตาม ด้วยต้องผ่านภูมิประเทศหลายแบบ ทั้งที่ราบ ลาดชัน ธารน้ำพร้อมเกาะแก่งสลับกับสนามบาสและหลุมหลบภัยครั้งเขตนี้ยังเป็นค่ายของกลุ่มบุคคลซึ่งได้กลับมาร่วมพัฒนาชาติกันแล้ว ส่วนน้ำตกอื่นๆ เช่น น้ำตกวังไม้ปัก น้ำตกกินรี น้ำตกสอยดาว น้ำตกพรุกำ น้ำตกท่าแพ น้ำตกยอดเหลือง น้ำตกเขานัน และน้ำตกวังลุง ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปนั้น ต้องเดินเท้าบุกป่าเพียงอย่างเดียว
          จากอุทยานแห่งชาติเขาหลวงไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คือเขตของเทือกเขากะทูน เขากะเปียด และเขาช่องลม อันเป็นเขตต้นน้ำตาปีที่ไหลผ่านราบลุ่มพิปูน ฉวาง อ้อมขึ้นเหนือเข้าสู่เขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั่นเอง ส่วนทางใต้ของอุทยานลงไป ก่อนจะเข้าสู่เขตอุทยานเขาปู่เขาย่า ในเขตจังหวัดตรังและพัทลุงนั้น อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง เนื้อที่ 135,156.25 ไร่ ก็กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการประกาศให้เป็น
อุทยานแห่งชาติ เขตนี้มีน้ำตกโยงอยู่ใกล้กับตัวเมืองทุ่งสง ถนนลาดยางถึงและมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวด้วยส่วนน้ำตกลำเหลนนั้น การเดินทางยังลำบากอยู่ สำหรับด้านเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาหลวงนั้นเป็นเทือกเขานัน เขาเหล็กต่อถึงเขาใหญ่ในอำเภอสิชล ซึ่งมีน้ำตกสี่ขีด แม้จะเล็กแต่ร่มรื่นชอุ่มตลอดปี ถนนหนทาง เข้าถึงลาดยางตลอด
          คู่กับขุนเขาและป่าไม้ น้ำตกนั้น ถ้ำที่สวยงามของเมืองนครมีอยู่หลายถ้ำ ตั้งแต่ถ้ำเขาเขาขุนพนมตอนบน ซึ่งมีประวัติบอกเล่าถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมกำแพงหลักฐาน และห้องท้องพระโรงกว้างขวาง และถ้ำตอนล่างที่มีหินย้อยพริ้วกลีบราวกับเข้าไปนั่งอยู่ในหีบเพลง เพียงแต่ว่าถ้ำนั้นเข้ายากมากขนาดต้องคลาน ส่วนถ้ำบนนั้นเดินได้สะดวกไปตามบันไดนับร้อยขั้น ถ้ำเขาวังทองใน
เขตอำเภอขนอมเป็นอีกถ้ำที่ใหญ่โตกว้างขวาง สลับกับลึกลับ ด้วยห้องหับหลายสิบห้อง เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยหลายรูปทรง ทั้งที่เป็นพู่ห้อย พริ้วผ้าระย้าม่าน จนถึงรูปช้างเอราวัณและไนโดเสาร์ บางห้องเต็มไปด้วยหินงอกยืนสลับซับซ้อน ราวกับทุ่งทะเลทรายที่มีกระบองเพชรยืนต้นอยู่เต็ม ในขณะที่บางห้องนั้นเต็มไปด้วยเม็ดหินงอก ซึ่งถ้ำใหญ่ขึ้นก็เป็นลูกน้อยหน่า จนกระทั่งเหมือนกับปะการังสมองเต็มไปหมด ที่หลืบในสุดนั้นมีเจดีย์หินงอกเกิดขึ้นอยู่องค์หนึ่งด้วย การเข้าเที่ยวถ้ำเขาวังทองสามารถนำรถไปถึงเชิงเขาแล้วเดินขึ้นไปที่ปากถ้ำก่อนที่จะเข้าไปชมโดยติดต่อขอกุญแจและผู้นำทาง จากบ้านของนายเสี่ยงโชค พลายสุวรรณ ขาวบ้านผู้อาสารักษามรดกธรรมชาติแห่งนี้ไว้สำหรับเขตทุ่งสงนั้น มีถ้ำแรดใหญ่โตสวยงาม แต่ห่างไกลมาก ส่วนถ้ำตลอดซึ่งอยู่ในเขตเทศบาตำบลปากแพรกของอำเภอทุ่งสงนั้น ปัจจุบันสภาพธรรมชาติเปลี่ยนไปมาก
          อุทยานทางทะเลของเมืองนครที่สวยงามร่มรื่นและชวนท่องเที่ยว นอกจากแหลมตะลุมพุกที่มีประวัติศาสตร์มหาวาตภัย และภูมิประเทศปลายแหลมที่มีปลายทรายทอดยาวเหยียดไปในน้ำและควายทะเลฝูงใหญ่ ไม่เหมือนควายไหนๆ ด้วยนิยมลงเล่นน้ำทะเลหากินอาหารพืชผักใต้ทะเลมาช้านานแล้ว ตลอดแนวชายทะเล จาก
อำเภอสิชลขึ้นไปผ่านอำเภอขนอม จนจรดเขตสุราษฎร์ธานีนั้น เต็มไปด้วยอ่าวและแหลมสลับกันไปเป็นระยะพร้อมด้วยแก่งหิน คือหาดหินงาม หาดสิชล หาดท้องหยี หาดท้องยาง กระทั่งหาดในเพลา ที่มีบังกาโล บ้านพักไว้รับรองมากมาย เช่น ในเพลาเบย์รีสอร์ท , สุภาวิลล่า, ขนาบน้ำไดม่อนด์ คลิฟฟ์ , เฟิร์นเบย์ โดยมีภัตตาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ถัดจากในเพลาผ่านคอเขา ซึ่งเป็นหน้าผาน้ำลึก ตำแหน่งที่รัฐบาลกำลังทำแผนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก รองรับแผนเซาเทอร์นซีบอร์ด พร้อมกับการนำน้ำมันดิบจากแหล่งเอราวัณขึ้นฝั่งที่จุดนี้ ที่สุดเขตต่อแดนกับสุราษฎร์ธานีนั้น มีคลองถ้ำและเกาะท่าไร่ซึ่งมีชุมชนชาวประมงเล็กๆ มาตั้งหลักแหล่งอยู่ช้านานทั้งๆ ที่เกาะนี้ไม่มีพื้นที่ราบ แต่การตั้งหลักแหล่งทำเป็นบ้านปักเสาลงทะเลเรียงแนบหน้าผาหินชั้นห่างจากแผ่นดินใหญ่ด้วยผืนน้ำทะเลไม่กว้างนัก จึงเรียกว่าคลองถ้ำ ประกอบกับบนฝั่งชาวบ้านเล่าว่าในซอกหลืบเขาชะง่อนผานั้น มีถ้ำแพรวพราว ซึ่งเฉพาะผู้มีบุญเท่านั้นที่จะหาปากถ้ำพบเละเข้าไปได้ รายรอบเกาะท่าไร่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม อ่าวน้อยใหญ่มองเห็นเทือกเขาบนฝั่งสวยงามมาก ขณะที่ฟากทะเลนอกของเกาะนั้นปรากฏเป็นชั้นหินม้วนพับจับอยู่ด้วยตะไคร่เขียวชอุ่มพิสดารมาก นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมากแหล่งหนึ่ง สามารถเดินทางได้ทั้งจากขนอมและจากดอนสัก

เขาหลวงลูกใหญ่ มหาชัยลูกเล็ก เขาหลวงทางอากาศ
เดินทางสู่ยอดเขาหลวง ป่าดงดิบบนเขาหลวง
น้ำตกพรหมโลก พรหมคีรี กะโรม-ในเขียว
ฝนแสนห่า-ป่ากรุงชิง น้ำตกโยง
สี่ขีด สิชล ถ้ำ
แหลมตะลุมพุก ชีวิตที่ปลายแหลมและอ่าวนคร
สิชล หลายบรรยากาศที่หาดในเพลา
พร้าวที่หาดในเพลา เกาะท่าไร่ คลองถ้ำ เหนือสุดยอดของทะเลนคร


พระธาตุทองคำ HOME แร่ธาตุอุดม