พลเมืองใฝ่เรียนรู้อยู่เป็นนิจ ร่วมสานกิจพัฒนารักษาถิ่น
ชีวิตมีคุณภาพทั้งแผ่นดิน เป็นท้องถิ่นวัฒนธรรมค้ำสังคม
เศรษฐกิจยั่งยืนทุกท้องที่ สิ่งแวดล้อมสมดุลย์ดีอย่างเหมาะสม
สู่ศูนย์กลางภูมิภาคน่านิยม ประชาคมรวมพลังสร้างเมืองนคร


5. เศรษฐกิจยั่งยืนทุกท้องที่

        ปัจจุบัน

         นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติทางเศรษฐกิจหลากหลายทั้งทางเกตรกรรม การประมง อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวการผลิตร้อยละ 60 ขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรมและพาณิชยกรรม ภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางและขนาดเล็ก มีผลิตผลจากภาคเกษตรกรรมมากมายเหมาะในการพัฒนาอุตสาหกรรมจากการเกษตร มีอัตราการออมสูงถึงสามหมื่นล้านบาทในระบบธนาคาร และยังมีอยู่ในกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชนนับพันล้านบาท รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 13 ของภาคใต้ ปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจ คือโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในชนบทและขาดประสิทธิภาพในการจัดการน้ำเพื่อการประกอบอาชีพ

        เป้าหมาย

         ปี 2550 เศรษฐกิจของจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องมีการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งนี้ความมั่นคงทางภาคเกษตรกรรม มีอุตสาหกรรมรองรับ อุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีการทำประมงที่คำนึงถึงระบบนิเวศน์ โดยประชากรต้องมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ของประเทศ และมีการออมเพิ่มขึ้นในกลุ่มชุมชน

        แนวทาง

1. ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งทางด้านการเงิน การคลัง เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและการบริการ

2. ส่งเสริมการออมในทุกระดับ และส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์ให้ทั่วทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

3. สนับสนุนให้มีแผนหลักการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนอย่างครบวงจร โดยเฉพาะยางพารา ข้าว ไม้ผล ประมง รวมทั้งการศึกษาวิจัย และเพิ่มความรู้ทักษะให้แก่เกษตรกรส่งสริมและอำนวยความสะดวกในการลงทุนอตุสาหกรรมต่อเนื่องตลอดจนการส่งออกสอดคล้องกับกติกาประชาคมโลก

4. จัดการแบ่งเขตการประมงน้ำจืด น้ำเค็ม อย่างมีประสิทธิภาพ รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรประมง รวมทั้งส่งเสริมการร่วมทุนกับต่างประเทศ และปรับปรุงกฏหมายที่เอื้อต่อการร่วมทุนและการค้าระหว่างประเทศ

5. ด้านพาณิชยกรรมและบริการ ให้มีตลาดกลางการเกษตรและตลาดล่วงหน้า (Future Market) ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลอดจนการพัฒนาประสิทธิภาพการบริการ

6. ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เร่งสร้างปัจจัยพื้นฐานทางการท่องเที่ยว โดยจัดทำแผนแม่บท ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์เมืองนคร พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

7. ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยจัดให้มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท่าเรือน้ำลึก และมีนิคมอุตสาหกรรม

8. พัฒนาส่งเสริมผลผลิตที่เป็นเอกลักษณ์เมืองนครให้เป็นที่รู้จักนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ


กลับหน้าแรก